เมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหารที่สำคัญของมนุษย์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดียและจีน มนุษย์อาจบริโภคข้าวฟ่างโดยตรงเป็นอาหารหลัก โดยหุงต้มคล้ายข้าว หรือบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์ทำจากแป้งข้าวฟ่าง นอกจากนี้ ยังใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้ดีอีกด้วย คนเริ่มนิยมใช้ข้าวฟ่างผสมเป็นอาหารสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับข้าวโพด ข้อได้เปรียบของข้าวฟ่าง ก็คือ ราคาถูกกว่า แม้ว่าข้าวฟ่างจะมีไขมันน้อยกว่าข้าวโพดเล็กน้อยทำให้ต้องใช้ข้าวฟ่าง มากกว่าข้าวโพดในการที่จะให้ได้น้ำหนักเพิ่มเท่ากัน แต่เมื่อคิดต้นทุนกำไรแล้ว การใช้ข้าวฟ่างทำเป็นอาหารสัตว์ อาจจะได้กำไรมากกว่า โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวฟ่างที่ดีจะมีคุณค่าอาหารใกล้เคียงกับข้าวโพด ต้นและใบของข้าวฟ่างบางชนิด ใช้ทำหญ้าแห้ง หญ้าหมัก หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดีเช่น หญ้าอัลมัม หญ้าซูแดกซ์ เป็นต้น ข้าวฟ่างหวานหรือซอร์โก มีน้ำตาลในลำต้นมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยการหีบเอาน้ำหวานไปทำน้ำตาล ทำน้ำเชื่อม หรือนำไปหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ ข้าวฟ่างไม้กวาด ใช้ประโยชน์จากช่อดอกโดยนำเอาก้านช่อดอกมาทำไม้กวาดและแปรงทาสีได้ นอกจากนี้แล้ว ข้าวฟ่างยังใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายชนิด เช่น แป้งข้าวฟ่าง ใช้ในอุตสาหกรรมทำไม้อัด ทำกาว ทำกระดาษ ทำผ้าและทำแอลกอฮอล์ ข้าวฟ่างบางพันธุ์ เมล็ดมีรสขมฝาดก็สามารถนำมาหมักเป็นเบียร์ได้ ในประเทศจีนยังใช้เมล็ดข้าวฟ่างบางชนิด ทำเหล้า พวกเกาเหลียงได้ด้วย ในการใช้ประโยชน์จากต้นและใบข้าวฟ่างนั้น มีสิ่งที่ต้องพึงระวังไว้บ้างคือ ในต้นและใบข้าวฟ่างที่ยังอ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้าจะมีสารพิษที่เรียกว่าดูร์ริน (dhurrin) อยู่มาก ถ้าสัตว์กินเข้าไปสารพิษตัวนี้จะถูกย่อยกลายเป็นกรดปรัซสิก (prussic acid) หรือกรดไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์สารพิษชนิดนี้ถ้าได้รับมากๆ จะทำให้สัตว์พวกแพะ แกะ วัว และควายตายได้ แต่ข้าวฟ่างที่ทำเป็นหญ้าแห้ง หรือหญ้าหมักแล้ว จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้โดยไม่เป็นอันตราย เพราะสารพิษเหล่านี้จะสลายตัวหมดไประหว่างการตากแห้ง หญ้าหมักอาจจะมีกรดปรัซสิกอยู่บ้าง แต่จะระเหยหมดไปในระหว่างที่ขนไปเลี้ยงสัตว์ เมื่อพืชแก่กรดนี้จะลดลง ปริมาณสารพิษนี้จะแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์และสภาพดินฟ้าอากาศ ฉะนั้นในการใช้ต้นข้าวฟ่างเลี้ยงสัตว์จึงต้องระมัดระวัง โดยทั่วไป ไม่ควรให้สัตว์กินต้นอ่อนหรือหน่อที่แตกใหม่ หากจะให้สัตว์กินควรใช้ต้นแก่ หรือมิฉะนั้นก็ตากแห้งหรือทำหญ้าหมักเสียก่อน. นอกจากสารพิษที่อยู่ในต้นและใบอ่อนของข้าวฟ่างแล้ว ในเมล็ดข้าวฟ่างบาง พันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่มีเมล็ดสีแดงแสด หรือสีน้ำตาล ยังมีสารแทนนินอยู่ในเมล็ดอีกด้วย สารนี้จะทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ไม่ดี เพราะทำให้โปรตีนใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ สารนี้พบมากในข้าวฟ่างพันธุ์ป่า และพันธุ์ที่ต้านทานต่อการเข้าทำลายของ นก เชื่อกันว่าสารนี้ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นได้ ในสมัยโบราณ มีการสกัดเอาสารนี้มาใช้ในการฟอกหนัง เพื่อสกัดเอาโปรตีนที่ติดอยู่ตามหนังออก สารแทนนินในข้าวฟ่างเป็นตัวการทำ ให้รสฝาด จากการศึกษาพบว่าปริมาณแทนนินร้อยละ ๐.๑ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ แต่ในระดับร้อยละ ๐.๕-๒ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของสัตว์ลดลง และที่ระดับร้อยละ ๕ สามารถทำให้สัตว์ตายได้ อย่างไรก็ดี สารแทนนินจะไม่มีผลเลยถ้าอาหารนั้นมีโปรตีนเพียงพอ เช่น การผสมกากถั่วเหลืองเพิ่มลงไปในอาหารสัตว์ ตั้งแต่ร้อยละ ๒๕.๓ ขึ้นไปเป็นต้น ตามความเป็นจริงแล้วสารแทนนินไม่ใช่สารพิษ เพียงแต่มีผลทำให้การย่อยโปรตีนลดลงการแยกสารแทนนินออกจากข้าวฟ่าง อาจทำได้โดยการแช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำด่าง ที่อุณหภูมิ ๖๐ องศาเซลเซียส แล้วล้างด้วยน้ำร้อน เปลือกของเมล็ดข้าวฟ่างจะหลุดออกมาหมด สารแทนนินก็จะติดเปลือกออกมาด้วย | |
วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ข้าวฟ่าง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น